top of page

HPV... ไวรัสตัวร้าย อันตรายกว่าที่คิด



หลายคนคิดว่าสาเหตุหลักของการติดเชื้อ HPV นั้นมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่คนโสดก็มีความเสี่ยงในการติดเชื่อนี้ได้ เพราะเราสามารถพบเชื้อเอชพีวีได้ทั่วไปในที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรือจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

เชื้อ HPV คืออะไร?

เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือ ไวรัส Human Papilloma Virus คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ได้ มักพบบ่อยในเพศหญิง เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกมากมาย สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ปลายองชาต ปากช่องคลอด ทวารหนัก บริเวณเยื่อบุผิวปากมดลูก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง


HPV ติดง่ายแค่ไหน?

การติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก โดยแพร่เชื้อผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หรือสัมผัสผิวหนัง อีกทั้งสิ่งของปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ HPV อาจแพร่เชื้อสู่ลูกระหว่างการคลอดได้ ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ  จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว


อาการของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร?

ผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ การติดเชื้อ HPV เกิดขึ้นได้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีหลายคนที่ติดเชื้อและหายได้เองภายใน 2-3 ปีโดยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดเชื้อ ทำให้สามารถส่งต่อเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจได้ง่าย นอกจากนี้ แม้จะป้องกันตัวเองและคู่เป็นอย่างดี หรือไม่เคยเปลี่ยนคู่นอนเลยก็ยังเสี่ยงได้ เนื่องจากเชื้อสามารถฝังตัวอยู่ในร่างกายได้นาน และอาจเริ่มมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เช่น หากคบกับแฟนมา 10 ปี ก็เป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อจากแฟนตั้งแต่ในช่วงแรกๆที่มีเพศสัมพันธ์ แต่เพิ่งมามีอาการในช่วงปีหลังๆ มักจะแสดงอาการเมื่อมีหูดเกิดขึ้นหรือเป็นเนื้อร้าย มีอาการดังนี้

● มีหูดหงอนไก่ เป็นตุ่มเล็กๆผิวไม่เรียบหลายๆตุ่ม กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก

● มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากช่องคลอด

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV คือใคร?

หญิง-ชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยเจริญพันธุ์

ผู้ที่มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง

ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ

ผู้ที่สัมผัสหูดหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงมือเพื่อป้องกัน

ผู้ที่ใช้สถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ฯลฯ


เชื้อไวรัส HPV เปลี่ยนเป็นโรคใดได้บ้าง?

นอกจากการติดเชื้อ HPV จะทำให้เกิดหูด ตุ่มแข็งคล้ายหงอนไก่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศที่สามารถรักษาได้โดยการจี้ทำลาย เชื้อ HPV ยังสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และทวารหนักได้ในผู้หญิง ส่วนในผู้ชาย สามารถก่อให้เกิดมะเร็งที่องคชาติ และทวารหนักได้เช่นกัน


เมื่อติดเชื้อ HPV ควรทำอย่างไร?

หากสังเกตเห็นความผิดปกติของตนเอง เช่น มีตุ่ม เกิดในบริเวณอวัยวะเพศ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจในแน่ชัด พร้อมวางแผนการรักษา ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อ HPV ได้โดยเฉพาะเจาะจง  ดังนั้นแพทย์จะทำการรักษาหลากหลายวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรง และปลอดภัยขึ้น


การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HPV

เมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ HPV สิ่งสำคัญคืออย่าละเลยการรักษา และควรทำใจให้สบาย เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานที่ถูกสุขลักษณะ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองทุกๆ 6-12 เดือน ตามแพทย์นัด เพื่อเฝ้าระวังเชื้อ HPV ลุกลามเกินดูแล


การรักษา

หากติดเชื้อ HPV วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการที่พบเป็นสำคัญ

ผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นต้องรักษาโดยการใช้ยา

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับผ่าตัดหรือการฉายรังสี


ป้องกันและลดความเสี่ยงได้อย่างไร?

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย


ตรวจเชื้อ HPV ทำอย่างไร?

เนื่องจากเชื้อ HPV ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า การตรวจวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น

  1. การตรวจแปปสเมียร์ ( Pap Test)  สูตินรีแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจคนหาเชื้อ

  2. การตรวจตินเพร็พ ( ThinPrep Pap Test ) วิธีการตรวจไม่ต่างไปจากการตรวจแปปสเมียร์โดย แพทย์จะเก็บเซลล์ บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วส่งเข้าห้องปฎิบัติการ

  3. การตรวจคัดกรองหาดีเอ็นเอของเชื้อ HPV ( HPV DNA Test ) วิธีการนี้เป็นคือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อHPVโดยตรง มีความแม่นยำสูง นิยมตรวจเพื่อค้นหาโรคก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

  4. การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป ( Colposcopy )  เป็นการสอดกล้องคอลโปสโคป ที่มีขนาดเล็ก เข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ

  5. การทดสอบด้วยกรดอะซิติก ( Acetic Acid Solution Test )  การตรวจวิธีนี้จะเป็นใช้สารละลายกรดอะซิติก เพื่อทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูก ที่มีผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว แพทย์จึงสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย


 

สุดท้ายนี้ก็อยากจะแนะนำว่าอยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี คอยสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายของเราอย่างสม่ำเสมอ และอย่ากลัวการไปตรวจภายใน เพราะการไม่ไปตรวจอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นในกรณีที่เรามีเชื้ออยู่ รวมถึงหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุ.


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

คลีนิค LOVER CLINIC

Line offical account : https://lin.ee/2muQuIy

Comments


bottom of page